เรื่อยไปในโตเกียว 21 : TJIA ในความทรงจำ

เรื่อยไปในโตเกียวตอนนี้เขียนแบบไม่ยาวเท่าไหร่นัก แต่รวบรวมจากความทรงจำและความประทับใจ  🙂

เริ่มต้นต้องนั่ง Time machine ย้อนเวลาตอนมาอยู่ญี่ปุ่นตอนปีแรก เปรียบเทียบสามปีที่อยู่มา เราคิดว่าปีแรกที่มาถึงเป็นปีที่รู้สึกว่ามีความสนุกสนาน เจออะไรใหม่ๆ เยอะแยะมากมาย ที่นี่ก็มีสมาคมนักเรียนไทยในประเทศญี่ปุ่น ซึ่งก็มีกิจกรรมต่างๆ มากมาย เช่น รับน้อง (ซึ่งเราก็ได้ทำตัวกลับไปเป็นเด็กอีกครั้งหนึ่ง), Ski Trip (ที่ไปเล่นสกี มีคนสอนสกีให้ด้วย) งานกีฬา (ซึ่งไม่เคยได้ร่วมสักปี 555) และงานที่เราสนใจมากที่สุดคืองานวิชาการประจำปี

ตอนปีแรกที่มาถึง (2014) ช่วงประมาณกลางปี น้องแป้งที่เรารู้จักคุ้นเคยตั้งแต่ JSTP10 ก็มาหลอกล่อให้เราส่งงาน แต่ตอนปีนั้นถ้าจะส่งงาน ต้องส่งเปเปอร์ความยาวประมาณ 4-5 หน้าด้วย น้องแป้งบอกว่า เอางาน ป.โท ส่งก็ได้ แต่เนื่องจากในเวลานั้นเรารู้สึกว่า งาน ป.โทนี่ใช้ไปพรีเซนต์บ่อยแล้วในบรรดาพวกสัมมนาวิชาการ (เป็นต้นว่า JCDCGG2013 ที่ญี่ปุ่น งานแรก, MPSGC9 ที่มาเลเซีย งานที่สอง) กลัวเรื่องราวจะไม่สดใหม่แล้ว ปี 2014 เราเลยไปร่วมเฉยๆ เป็นผู้ฟัง (ซึ่งเป็นปีที่ฟังอะไรก็ไม่ค่อยรู้เรื่องเท่าไหร่)

13153_10152437713060811_2387429232146447313_n

TJIA2014 ที่โทได

 

สรุปปี 2014 เราก็ไปอยู่ยาวจนถึงตอน Banquet ที่ Banquet ก็เจอกับพี่ต้น ซึ่งพอคุยกันก็ อ้าวเฮ้ย นี่ทำวิจัยฟิลด์ใกล้กันนี่หว่า ! กับโจ ซึ่งก็ทำวิจัยใกล้ๆ กัน ก็เลยคิดว่ามีคนทำงานสายที่พอคุยกันรู้เรื่องแล้วบ้างนะ.. เราก็มาคิดว่า ปีหน้าถ้ามีจัดงานอีก ก็อยากส่งงานมาบ้างเหมือนกันนะ (แต่ที่คิดคือ อยากส่งแบบโปสเตอร์ เพราะว่าแบบ oral เราเก็บเนื้อหาไปส่งในงาน conference ต่างๆ ในฟิลด์เราที่เราจะไปดีกว่า)

เสร็จงานก็ผ่านไป.. เวลาล่วงเลยมาจนถึงปี 2015

ช่วงกลางๆ ปี เราก็เฝ้ารอเวลาอย่างเลื่อนลอย จนเริ่มได้ข่าวว่า TJIA เปลี่ยนงานจาก International Conference เป็น Educational Talk แล้วมันคืออะไรล่ะ? เราก็รอดูรายละเอียดมาเรื่อยๆ จนเริ่มมีประกาศรูปแบบงานที่ชัดเจนออกมา

 เอ้อ… ปีนี้ธีมดูน่าสนใจดีนะ !

แต่เนื่องจากเราเห็นว่า งานนี้ไหนๆ เค้าจัด Theme ที่ไม่เป็นทางการมากนัก และไม่ได้ serious ว่าผลที่จะไปนำเสนอจะต้องออกมาดีด้วย ถ้างั้น เรามาคิดใหม่ทำใหม่ ทำเรื่องที่ว่า ถ้าเสร็จก็ดี ถ้าเจ๊งก็ไม่เป็นไรดีกว่า งานนี้เราเลยลากน้องพัทร จาก architecture ที่เมจิ มาร่วมเป็นทีม คิดงานใหม่ๆ เพื่อจะไปพรีเซนต์แบบโปสเตอร์ที่เกียวโต ในที่สุดก็แถกันไปได้จนจบ เสร็จออกมาเป็นโปสเตอร์สวยงามพร้อมพรีเซนต์

12248131_10153157663395811_3273756834054160952_o

TJIA2015 ที่เกียวโต

 

รายละเอียดแบบละเอียดพร้อมทริปเที่ยวเกียวโต – นารา เราเขียนไว้ที่ เรื่อยไปในโตเกียว 16 ตอน ตะลุยคันไซฟรี ๆ กับ TJIA E-Talk 

ที่ TJIA2015 เราก็ไปเจอพี่ต้นอีกครั้งที่มาพร้อมกับเอี่ยม มาดูโปสเตอร์เรา พร้อมถามคำถามต่างๆ นานามากมาย (ก่อน TJIA2015 พี่ต้นชวนพูดที่ Lab ที่ไดอยู่ และก็เจอเอี่ยมอย่างเป็นทางการ)

เสร็จวันงาน TJIA2015 ระหว่างที่ไปนารากันกับน้องแป้งและน้องซัน เราก็เม้าท์กัน เราเองก็บอกน้องแป้งไปว่า ปีหน้าถ้าเค้าหาสตาฟจัดงานนี่บอกพี่นะ พี่อยากช่วยทำๆ (นี่เป็นพวกชอบหางานเข้าตัวเองมาก – -” )

เสร็จจาก TJIA2015 สักพักใหญ่ เวลาผ่านไปหลังจากเรากลับมาจากทริปเที่ยวจีนเดือนกุมภา เราก็ได้คุยกับพี่ต้นว่า เรามาร่วมทีมกัน research อะไรกันไหมครับ (หลังจากที่เคย discuss กันตอนไปแลปพี่ต้น) และท้ายสุดเราก็ได้คุยกันว่า งั้นเรามาลุยงานที่ทำค้างไว้จาก TJIA2015 กันดีกว่า จากนั้นก็เซ็ททีมกันสี่คน มีเรา พัทร เอี่ยม และพี่ต้น ก็ discuss งานกันไปตามแต่เวลาว่างจะมี… เป้าหมายของงานวิจัยที่จะทำคือ ส่งงาน TJIA2016 และผลิตมันเป็นเปเปอร์กันเลย !

เวลาก็ล่วงเลยผ่านมา ผ่านความหนาวเย็นของอากาศและจิตใจ ล่วงเลยมาจนถึง Spring 2016…

เรื่องเริ่มต้น TJIA2016

น่าจะเป็นช่วงเวลาที่ สนทญ. เซ็ททีมหลังจากเลือกตั้งรับรองเสร็จแล้ว ตามที่เราเคยบอกน้องแป้งไว้ น้องแป้งในฐานะ สนทญ. เก่าผู้ซึ่งต้องหาคนทำงานให้รุ่นต่อไปก็ลากเราให้คุยกับน้องนัย นายก TSAJ77 ซึ่งน้องนัยก็แนะนำต่อไปให้กับ “น้องพิม” ซึ่งเป็นทีมวิชาการประจำปีนี้ คุยไปมาผ่านเฟสบุค อ้าว สรุปน้องซันก็ทำทีมวิชาการด้วย (ซึ่งตอนแรกก็คิดว่าจะไปทำ IR)

วันประชุมสตาฟครั้งแรก เราก็ได้เจอกับน้องพิม เม้าท์กันไปมา อ่าว นี่รุ่นเดียวกันนี่นา… จากน้องก็เลยเป็นเพื่อนกัน วันประชุมวันแรกมีสมาชิกร่วมประชุมอยู่ไม่ถึง 10 คน มีพิมเป็นแม่งานใหญ่ของ TJIA ครั้งนี้ ในวงที่ประชุมกันครั้งแรกรู้สึกเกร็งมาก เพราะในวงเราไม่รู้จักใครเลยนอกจากน้องซัน T_T แต่ก็คิดว่าน่าสนุกที่ได้ทำงานกันในบรรยากาศใหม่ๆ บ้าง วันประชุมงานวันแรกก็คุยธีมกันว่า อยากจัดในรูปแบบ International Conference แต่ก็อยากให้มีความเป็นแบบ E-Talk รวมอยู่ด้วย คุยกันอยู่นานพอสมควร เลยแบ่งเป็นสองกลุ่มใหญ่ๆ คือ Proceeding Talk กับ E-Talk ตอนแรกสุดนี้เราก็อยากจับอะไรที่เป็นเรื่องวิชาการหน่อยๆ ทำนองว่า ติดต่อ, review, etc.. ก็เลยไปอยู่ทีม Proceeding

หลังจากนั้นสักพัก จากทีมที่แบ่งกันใหญ่ๆ สองทีม เนื่องจากงานเปรียบเสมือนดอกเบี้ย ยิ่งเวลาผ่านไปก็ยิ่งงอกเงย ฝ่ายเราก็จึงเริ่มแตกกิ่งก้านสาขาเรื่อยๆ แรกสุดพิมอยากให้ไปช่วยทำเกี่ยวกับ VIP แต่เนื่องจากว่าเราคิดว่าเราไม่น่าถนัดพวกส่งจดหมายเป็นภาษาอังกฤษ เลยแนะนำให้น้องซันทำไป เราก็รอดจากงานใหญ่ๆ แล้วว เย่ ~ (แต่โดนบ่นพักนึง รู้สึกผิดไปแป้บๆ ที่โยนงาน)

หลังจากการประชุมครั้งแรก เราก็ต้องเริ่มหาคนมาร่วมทีม ก็ไปชวนพี่เอมาช่วยด้วย ชวนพี่เอเสร็จ สักพักใหญ่ๆ หลังจากการไปเที่ยวทริปไหนสักทริป ก็ชวนกอล์ฟมาร่วมทีมกันด้วย หลังจากที่ในทีมเราทุกคนช่วยกันหาดาวน์ไลน์ เอ๊ย ผู้ร่วมทีม ทีมเราก็ค่อยๆ โตขึ้นเรื่อยๆ จากทีมที่เริ่มจากไม่ถึงสิบคน มาเป็นราวๆ ยี่สิบคน

เรื่องกราฟฟิก

งานที่เราต้องทำในงาน conference ส่วนหนึ่งคือพวกการประชาสัมพันธ์ โปสเตอร์ รูปเล่ม งาน Media ต่างๆนานา เนื่องจากเราทำงานพวกนี้เป็นงานอดิเรกอยู่แล้ว เป็นงานที่ทำแล้วไม่เครียดเท่าไหร่ เลยไม่ลังเลที่จะอาสาเป็นคนขอช่วยทำเอง 😛 ท้ายสุดงานด้านกราฟฟิกและประชาสัมพันธ์เลยตกมาที่เรา ตู้ม…

เนื่องจากงานคอนฯ นี้เป็นงานใหญ่ การที่เราจะทำงานกราฟฟิกคนเดียว ด้วยความสามารถของเราอาจจะพางานหายนะได้ ส่วนหนึ่งมีน้องนกจาก สนทญ. มาช่วยดูให้ แต่เนื่องจากน้องนกก็แลดูงานยุ่ง เราเลยน่าจะต้องหาคนมาช่วยดูเพิ่ม ซึ่งท้ายที่สุดก็หนีไม่พ้นน้องพัทร – -” ซึ่งน้องพัทรก็ตอบโอเค ปัญหาต่อมาคือเราน่าจะต้องหาทีมมาช่วยทำเพิ่ม ตอนแรกเราจะมีรุ่นน้องมาช่วยอีกคนนึง (คือน้องมั่น) แต่เนื่องจากน้องงานเข้ารัวๆ เวลาไม่ตรงกัน สรุปคือทีมกราฟฟิกเราทำงานกันสองคนนั่นเอง – -”

แรกสุดเราออกแบบคนเดียวก่อนที่มีน้องพัทรร่วมทีม ตอนที่ทำมันก็ไม่ได้คิด idea/ concept อะไรมากมายเท่าไหร่ แต่พอเริ่มเป็นทีมขึ้น มันก็ต้องคุยให้เป็นในแนวทางเดียวกัน งานกราฟฟิกที่ออกมาให้เห็นในวันงาน เป็นอะไรที่คุยกันและ discuss กันยาวนานมากๆ ตอนปี 2014 เล่มมันก็ academic มาก ปี 2015 มันก็แฟนซีสวยงามมาก แล้วปี 2016 ล่ะ เราจะทำยังไงดี -_- ช่วงเริ่มต้นน้องนกออกแบบโลโก้ ธีมสีต่างๆ มาไว้ให้แล้ว เราก็ต้องทำต่อไปจากธีมนั้น เป็นโจทย์ที่ยากมากที่จะต่อโจทย์จากของเก่ามาเป็นอันใหม่ให้ไม่แตกต่างกันมากนัก มีหลายครั้งที่ discuss กันยาวนานมากแต่นึกอะไรไม่ออกกันเลย

เวลาผ่านไปที่เราก็ต้องเริ่มเขียนฮะคุรง น้องพัทรต้องเขียนเล่ม thesis ก็จะมีช่วงที่เราไม่ว่าง น้องพัทรไม่ว่าง ไม่ว่างสลับกันไปมา จนช่วงที่ต้องปั่นเล่ม Abstract ท้ายสุด concept ก็ได้ด้วย deadline ที่กระชั้นชิดมาตลอด (สรุปคือ Deadline ชนะเลิศ ถถถถ) ปลายเดือนกันยายน เราก็หาเวลามาช่วยกันปั่นให้สำเร็จจงได้แบบหามรุ่งหามค่ำ… และท้ายที่สุดเล่ม Book of Abstract ก็เสร็จออกมาอย่างที่ทุกคนเห็น ซึ่งเล่มนี้ก็ผ่านการพิสูจน์อักษรจากสมาชิกในฝ่ายวิชาการมาพอสมควร (อาจมีตกหล่นบ้างก็ขออภัยมา ณ ที่นี้)

พอเล่มเสร็จ เราก็จะต้องออกแบบทุกอย่างให้สอดคล้องกันธีมของเล่ม ไม่ว่าจะเป็นป้ายชื่อ เกียรติบัตร ป้ายงาน อื่นๆ ซึ่งพอมาทำจริงๆ ที่จะให้งานออกมาดีนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย ช่วงที่เตรียมทำเล่ม บางทีเสียเวลานั่งหาฟอนต์ที่สวยๆ กันหลายชั่วโมงเลยทีเดียว

img_1731

เล่มนี้ก็เสร็จมาได้ด้วยความร่วมมือของทุกฝ่าย ขอบคุณจริงๆ

 

จากการทำเล่มครั้งนี้ทำให้เราได้เรียนรู้อะไรหลายๆ อย่างที่เกี่ยวกับการออกแบบเยอะมาก ได้ทำงานให้เป็นระบบมากยิ่งขึ้นจากการเรียนรู้จากคนสาย Art ฝึกใช้โปรแกรมอย่างเชี่ยวชาญมากขึ้น และได้วิธีไว้เวลาไปทำงานอื่นๆ ต่อไป

เรื่องราวระหว่างเตรียมงาน

ในการเตรียมงาน TJIA เรามีนัดประชุมกันเดือนละครั้งเพื่อคุยกันว่า งานไปถึงไหนบ้าง มีปัญหาอะไรบ้างในแต่ละฝ่าย ช่วงแรกๆ เราอยู่ช่วยกับ Proceeding แต่พองานเริ่มงอกออกมา เราก็ต้องเฟดตัวจากงาน Proceeding อย่างเงียบๆ มาทำงานอื่นๆ

ระหว่างการเตรียมงาน ก็เริ่มมีการประสานงาน คุยงานกันมากขึ้นเรื่อยๆ จากที่เราไม่รู้จักใครในวง ก็เริ่มรู้จัก พูดคุยกันมากขึ้น จากกันคุยกันเรื่อยๆ ก็เริ่มเม้าท์กันเรื่อยๆ และสนิทกันขึ้นเรื่อยๆ เริ่มมีประเด็น discuss งานกันมากขึ้น ในทีมงานเราจะรู้กันดีว่า มีประเด็นหลายประเด็นที่เรียกว่าเป็นประเด็นวงแตก คือเอาไป discuss กันตอนไหน วงจะแตกทุกที (มีอยู่ครั้งนึงที่เอาเรื่องนี้มา discuss กันในชมรมส้มตำฯ สรุปคือ วงแตกเช่นเดียวกัน!! ต้องรีบเปลี่ยนเรื่องกันไม่ทันเลย – -” ) แต่ถึงเราเถียงกันแรงขนาดไหน แต่จบก็คือจบ นอกประเด็นงานเราก็เม้าท์กันตามปกติ

เรื่องงานวิชาการ

ต่อจากที่เรา discussion กับพี่ต้น เอี่ยม และพัทร ที่เราจะส่งงานมาพูดที่ TJIA เราก็ discuss กันเรื่อยๆ ซึ่งหลังจากงาน TJIA ชัดเจนขึ้นว่าจะมีจัด E-Talk ร่วมกับ Proceeding เราก็คิดว่า เราส่งงานกันแบบ E-Talk ดีกว่า แต่เนื่องจากทุกคนมีภาระประจำของตัวเองกันอยู่แล้ว ช่วงหลังๆ เราก็เลยไม่ค่อยได้ discuss กัน นึกกันได้อีกที อ้าวเฮ้ย TJIA กำลังจะถึงแล้วนี่หว่าาา T_T

โชคดีที่เราคุยโครงคร่าวๆ กันในระดับหนึ่งพอจะชัดเจนแล้ว ถึงเวลาเราก็เลยทำตามที่คุยไว้ มีบั๊กบ้าง ผลออกมาไม่สวยบ้าง แต่ก็พอที่จะเอามาเล่าได้ใน TJIA ซึ่งเราคงจะมาลุยกันต่อหลังจาก Defend Thesis เราเสร็จเรียบร้อยแล้ว ให้เสร็จเป็นงานก่อนที่จะกลับไทยในลำดับต่อไป…

ดังนั้นในวันงานจริง นอกจากเราจะเป็นผู้จัดแล้ว เราก็ยังต้องเป็นผู้พูดด้วย ความจริงที่คุยกันเล่นๆ ตอนแรกเราจะไปพรีเซนต์กันทุกคน แต่ท้ายที่สุดเราก็ต้องพรีเซนต์คนเดียว (น้องพัทรไม่ว่างวันงาน พี่ต้นเป็น Chair Session ที่เราพูด เอี่ยมติดพูดอีก session นึง) วันใกล้ๆ งานก็ปั่นสไลด์อย่างฮาเฮกันเลยทีเดียว ~ แต่สุดท้ายก็เสร็จเรียบร้อยดี

ใน session นำเสนอนี่ก็ฮาเฮมาก เพราะเป็นปีแรกของ TJIA ที่มี session optimization พร้อมกันทุกเรื่องใน session เดียว! (พี่ต้นบอกมาแบบนี้ 555) สรุปก็เจอกับโจอีกครั้งหลังจากเจอใน TJIA2014 ซึ่งมาพูดใน session เดียวกับเรา และเนื่องจาก chair เป็น co-author ดังนั้นเราจึงไม่เจอคำถามจาก chair (ฮาาา ~) และเราก็สละสิทธิ์การประเมิน best presentation award ไปด้วย ให้อีกสองงานเค้าชิงกันเองต่อไป (ผลักภาระให้คนอื่น เย่) ที่แน่ๆ session เรา discuss กันอย่างสนุกสนานเฮฮา สมกับวัตถุประสงค์ของ E-Talk ที่อยากให้ได้ discuss กันในบรรยากาศที่เอื้อต่อการอภิปราย ~

เรื่องความประทับใจ

หลังจากทำงานเตรียมงานกันมาเรื่อยๆ ทำให้เรารู้สึกว่า เราโคตรโชคดีที่ได้ทำงานในทีมที่สุดยอด ทุกคนรู้หน้าที่ของตัวเอง และพยายามทำให้งานของตัวเองออกมาโอเคที่สุด จากตอนแรกเรารู้สึกเกร็งๆ จนท้ายที่สุดก็กลายมาเป็นทีมเดียวกัน ไปเที่ยวกินข้าวกัน ซึ่งในความรู้สึกก็คิดว่า วันงานมัน Smooth มากกว่าที่คิดไว้มากเลยทีเดียว ช่วงก่อนเตรียมงาน ในฐานะสตาฟ เราก็เครียดพอสมควร กลัวว่างานจะออกมาไม่ดี (ด้วยความเป็นคนขี้นอยด์) ฝันถึง TJIA ติดกันหลายวัน ซึ่งมาคิดว่าน่าจะเป็นสาเหตุหนึ่งของการเป็นงูสวัดในครั้งนี้ (ฮาาาาา ~)

งานผ่านไปแล้ว… กับระยะเวลาหกเดือนที่เตรียมงาน เป็นอีกงานที่รู้สึกใจหายหลังจากจบงาน บรรยากาศที่ต้องไปประชุมที่โทโคไดคงไม่มีแล้ว (นอกจากจะประชุมสรุปงานอีกรอบ) และต้องกลับเข้าสู่โลกความจริงของการเขียนฮะคุรงอย่างเต็มตัวสักที..

สำหรับเราแล้ว คิดว่าพิมเป็นเฮดที่สุดยอดมากๆ ต้องรับเรื่องต่างๆ รอบๆ ตัวมากมาย ถึงจะเจอปัญหามากมายแต่ก็ยังใจเย็นมากๆ ดีใจมากๆที่ได้มาทำงานร่วมกันนะ 😉

สรุปแล้ว TJIA2016 เราได้มีส่วนร่วมต่างๆ มากมาย ได้ทำในสิ่งที่อยากทำหลายๆ อย่าง ได้เจอเพื่อนใหม่ในงานวิชาการ รู้จักเพื่อนพี่น้องที่ลุยงานไปด้วยกัน ได้สนุกกับการทำงานเหมือนที่เคยได้ทำมาเมื่อนานมาแล้ว และในที่สุด มันก็เป็นหนึ่งในความทรงจำที่ดีมากของการมาเรียน ป.เอกที่ญี่ปุ่นของเรา

เรื่องที่ได้เรียนรู้

กับ TJIA2016 นี้เราได้เรียนรู้เรื่องใหม่ๆ เยอะแยะมากมาย เราคิดว่ามันน่าจะเป็นประโยชน์กับตัวเราในอนาคตมากมาย สำหรับเราแล้ว #มาTJIAแล้วได้

  • ได้เรียนรู้การทำงานที่สนุกสนาน เรียนรู้การบริหารจัดการต่างๆ (แอบครูพักลักจำจากพิม สะท้อนคิดว่าเมื่อก่อนนี่เราทำงานไม่ค่อยดีเลย – -” ) ซึ่งเราก็ต้องเรียนรู้ต่อไป
  • ได้ exp งานออกแบบ เรื่องทำกราฟฟิกในงานนี้ จากการได้ทำงานกับผู้มีประสบการณ์และมี sense มากกว่า ก็ทำให้เราได้ฝึกคิดเรื่องพวกนี้ที่เป็นระบบมากขึ้นมาก และมันก็เป็นอีกงานที่ทำให้เราได้สะสมประสบการณ์การออกแบบด้วย ซึ่งเป็นเรื่องที่เราทำเล่นๆ เป็นงานอดิเรก และคงไม่ทำเป็นเรื่องเงิน (เพราะฝีมือคงไม่ดีพอ และไม่กล้าให้คนอื่นตั้งความคาดหวังกับเรามากไปด้วย)
  • ได้ต่อยอดหัวข้องานวิจัยที่ทำเล่นๆ ให้มันจริงจังมากขึ้น หลังจากงาน Thesis เราเสร็จ คงจะได้ลุยต่อ และอาจจะเป็นอีกกลุ่มงานวิจัยที่เราจะทำหลังจากจบไปแล้วด้วย
  • ได้มิตรภาพจากทีมงานที่ทำงานด้วยกัน ในโอกาสนี้ถ้าทำอะไรให้ใครไม่พอใจยังไงไม่ว่าจะทางตรง ทางอ้อม ก็ขออภัยมา ณ ที่นี้ด้วยนะครับ /|\

ข้อเสนอแนะสำหรับครั้งต่อไป

คิดว่าในปีต่อไป เราคงไม่ได้เป็นทีมจัดงานแล้วอย่างแน่นอน เราเลยอยากจะสะท้อนคิดสำหรับการจัดงานครั้งต่อไปนิดหน่อย

จากที่เราเป็นทางผู้ฟัง ผู้พูด และผู้จัดงาน conference เราคิดว่า งาน conference ที่ดีคืองานที่ทำให้ผู้เข้าฟังรู้สึกได้แรงบันดาลใจกลับไปหลังจากเสร็จงาน

โดยส่วนตัวแล้ว เราคิดว่า งานที่เป็นเชิงวิชาการตามมาตรฐานสากลแบบ Proceeding Talk ก็ควรดำเนินต่อไป เพราะเป็นการแสดงถึงศักยภาพของคนไทยเราว่า เราสามารถไปถึงมาตรฐานทางวิชาการแบบสากลได้ ในขณะที่การ discuss ในบรรยากาศที่เป็นกันเองสไตล์ E-Talk ก็จำเป็น เพราะทำให้เราได้อภิปรายและเปิดเวทีสำหรับสร้างงานใหม่ๆ ได้เยอะแยะมากมาย ถ้าเป็นไปได้เราก็ควรมีอะไรที่ทำให้คนฟังได้แรงบันดาลใจติดไม้ติดมือกลับบ้านไปด้วย….

ท้ายที่สุดนี้ ขอบคุณทุกอย่างที่ทำให้เราได้เจอกันที่ TJIA2014, 2015, 2016 ที่สอดคล้องกับ Theme ปีนี้ที่ว่า Exchange for Eternity การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เพื่อความรู้ “และมิตรภาพ” ที่ไม่มีวันสิ้นสุด

ยินดีและดีใจที่ได้เจอกับทุกคน 😀

img_1737