เรื่อยไปในโตเกียว 12 : เบสบอลครั้งแรก

ในวิสัยทัศน์ประจำปีที่ผ่านมา นอกจากเป้าหมายด้านการเรียนแล้ว เรายังวางเป้าหมายไว้ว่า จะต้องหาโอกาสมาสัมผัสวัฒนธรรม ความเป็นอยู่ของชาวญี่ปุ่น วัฒนธรรมเกี่ยวกับกีฬา (และการเชียร์กีฬา) ก็เป็นหนึ่งในสิ่งที่เราสนใจเหมือนกัน เรื่อยไปในโตเกียวตอนนี้จะมาเล่าสู่กันฟังเกี่ยวกับประสบการณ์การดูเบสบอลที่ญี่ปุ่น กีฬายอดฮิตของชาวญี่ปุ่น รวมถึงวัฒนธรรม รูปแบบการเชียร์กีฬาของมหาวิทยาลัยที่ญี่ปุ่นกัน..

เมื่อปีที่แล้วช่วงต้นเทอม 1 เราไปเรียนภาษาญี่ปุ่นที่ Surugadai campus (campus ประจำของเราคือ nakano campus แต่เราต้องไปเรียนที่ Surigadai สัปดาห์ละสองคาบ) เราก็เห็นป้ายตารางการแข่งขันเบสบอล ก็เริ่มสงสัยว่า เอ๊ะ ที่นี่เค้ามีงานประเพณีอะไรกันหรอเนี่ย….

ที่ญี่ปุ่น กีฬาเบสบอลเริ่มเป็นที่นิยมประมาณปลายๆ ศตวรรษที่ 19 ในภายหลังก็เริ่มฮิตติดตลาด มีประเพณีการแข่งขันระหว่างโรงเรียนมัธยมปลายบ้าง และที่ดังขึ้นมาก็คือ เบสบอลประเพณี 6 มหาวิทยาลัยที่เรียกว่า Big6 ประกอบด้วย Todai, Meidai, Waseda, Keio, Rikkio, Hosei จัดแข่งกันทุกปีในชื่อ “Tokyo Big6 Baseball League” จัดต่อเนื่องมาเป็นปีที่ 90 แล้วทีเดียว (See also [1]) โดยปีนึงก็จะมีสองฤดูกาลคือ Spring กับ Autumn จะว่าไปถ้าเทียบๆ กับไทย อาจจะประมาณฟุตบอลประเพณีจตุรมิตร หรือฟุตบอลประเพณีจุฬาธรรมศาสตร์นั่นเอง การแข่งขันนี้ก็จัดกันที่ Meiji Jingu Stadium ในส่วนสนามเบสบอล

IMG_3480

ตารางที่ติดไว้ที่ Liberty Tower ของปีนี้ (2015)

ใจจริงเราอยากไปดูมาตั้งแต่ปีที่แล้วแล้วล่ะ แต่เนื่องจากปีที่แล้วยังไม่รู้จะไปยังไง ไม่เคยดู เลยยังไม่ได้ไป มาถึงปีนี้ก็เห็นตารางเหมือนกัน แต่ปีนี้คิดว่าน่าจะได้เวลาที่จะไปดูแล้วละสิ… แรกสุดเลยชวนโลเรนโซซัง สหายในแลปชาวอิตาลีไปด้วย เนื่องจากก็ไม่เคยไปดูกันทั้งคู่ ก็เลยถามนางาฮาชิซัง สมาชิก ป.โทในแลปซึ่งมีความสนใจเกี่ยวกับเบสบอลอยู่พอควร ก็ตกลงว่าจะไปดูกัน! พอมีแนวร่วมไปดูเบสบอลได้แล้ว จึงหาข้อมูลว่าไปวันไหนดี และเลือกวันคร่าวๆ ก่อน ตอนแรกจะไปวันที่ 16 ภายหลังพบว่าโลเรนโซก็ไม่ว่าง เลยว่าจะไปวันที่ 17 แทน (มันมีแข่งกันสองวัน) แต่ท้ายที่สุดนางาฮาชิซังก็ไม่ว่าง -.-” ก็เลยว่า เอาว่ะ ไปดูกันเลยละกัน!

วันที่ 16 เราไปเที่ยวงาน Thai Festival เจอวองซัง คนจีน เพื่อนน้องอู๋ (ซึ่งชวนน้องอู๋แล้ว แต่ก็ไม่ว่างไปเหมือนกัน) เลยชวนไปดูวันอาทิตย์ที่ 17  สรุปว่าว่างพอดี เลยพากันไปดูแมทช์ระหว่าง Meiji กับ Waseda กัน (ซึ่งผลวันที่ 16 นั้น เมจิชนะวาเซดะไป 2-1 point)

อันที่จริงเรากะจะไปดูตั๋วที่ Meidai mart ตั้งแต่วันศุกร์แล้ว แต่เนื่องจากนางาฮาชิซังไปดูตั๋วมาแล้วหมด เลยกะว่าจะไปเสี่ยงดวงเอาตอนเช้าวันที่ 17 เลย… เช้าวันที่ 17 เราเลยนัดกันแต่เช้าตรู ประมาณสิบโมงที่ Sendagaya Station เพื่อไปซื้อตั๋วรอบบ่ายโมงครึ่งใน match ที่เราจะดู ปรากฏว่าพอไปถึงก็สบายมากกก ซื้อตั๋วได้เลย ตั๋วก็มีอยู่หลายราคา แบบที่นั่งผู้ชมมาตรฐาน 1300 เยน ถ้าเป็นนักเรียนลดเหลือ 800 เยน แต่ถ้าเราไปนั่งเป็นกองเชียร์ด้วย ที่นั่งโซนนั้นก็ราคา 500 เยน! เนื่องจากเห็นแก่ของถูก และอยากลองสัมผัสบรรยากาศการเป็นกองเชียร์ญี่ปุ่นบ้าง เรา็เลยตัดสินใจกันว่า เอาว่ะ 500 เยนก็แล้วกันนน พอได้ตั๋วเสร็จก็เดินไปที่ yoyogi park พาโลเรนโซซังกับวองซังไปเที่ยว Thai Festival สักพัก พอได้เวลาก็นั่งรถไฟกลับไปที่สนามเบสบอล

ตอนไปถึงก็ไปถึงช้าเหมือนกัน ประมาณบ่ายโมงสิบห้า ในใจคิดว่า ตายล่ะ มาสายยย (ตามตารางเค้าเริ่มบ่ายโมงครึ่ง) พอไปถึงก็ปรากฏว่าต้องต่อแถวรอเข้าสนามเบสบอล เพราะว่าคู่ก่อนหน้านี้ยังไม่เสร็จ (แต่ละแมทช์ใช้เวลาประมาณสามชั่วโมง) -.- การต่อคิวนี้เราก็ได้รับแจกเล่มสูจิบัตรการแข่งขันของมหาวิทยาลัย ข้างในก็เป็นพวก แนะนำนักกีฬา แนะนำชมรมเบสบอล การเชียร์เบื้องต้น โค้ดเชียร์ เพลงมหาวิทยาลัย เพลงเชียร์อื่นๆ ระหว่างต่อคิวก็เห็นคนเตรียมผ้าขนหนู Meiji สีม่วง เราก็เลยนึกขึ้นได้ว่าลืมเตรียมหมวกมา T_T ตอนแรกกะจะหาซื้อที่สนาม แต่สรุปแล้วมันแพงมาก (2200 Yen) เลยไม่เอา ทนร้อนก็ได้

IMG_3610

สูจิบัตรพร้อมตั๋ว

เข้าไปในสนาม ก็พบกับสนามอันกว้างใหญ่ พร้อมแสงแดดอันอบอุ่น (จนร้อนแห้งเกรียม >_<) ฉับพลันก็คิดถึงตอนขึ้นแสตนด์ Sports Day ตอนปีหนึ่งเลยทีเดียว ที่ร้อนแบบนี้ก็นึกถึงสมัยไปดูฟุตบอลจุฬาธรรมศาสตร์ (ที่ตอนนั้นก็เห็นแก่ตั๋วถูก ซึ่งถูกกว่ากันแค่ร้อยเดียว กับการนั่งฝั่งโคตรแดดประมาณสี่ห้าชั่วโมง เกรียมเลย) ไม่ได้มีแค่นักศึกษา แต่ยังมีศิษย์เก่าที่ไปเชียร์เมจิอย่างเหนียวแน่น เต็มแสตนด์

IMG_3611

บรรยากาศสนาม ฝั่งตรงข้ามเป็นกองเชียร์วาเซดะ

เข้าไปถึงปุ๊บ ก็แข่งขันกันไปประมาณสิบนาทีแล้ว เราไปถึงก็มีสตาฟเชียร์ (จากชมรมเชียร์ และเชียร์ลีดเดอร์เมจิ) มาให้เรานั่งตามที่นั่ง เข้าไปดูใหม่ๆ ก็งงๆ ล่ะสิ ระหว่างที่เรากำลังนั่ง ช่วงแรกๆ สตาฟเชียร์ก็มีการนัดแนะโค้ดเชียร์ สอนกันสดๆ บนแสตนด์เลยนั่นล่ะ อาทิเช่น もういっちゃ (ประมาณว่า อีกครั้งๆ)、ストライク (Strike), チェーンジ (Change) ตอนแรกก็ไม่ค่อยรู้เรื่องเท่าไหร่ แต่คือเดินเข้ามาสนามปั๊บก็โดนวาเซดะฟาดแต้มไปแล้วสองแต้ม (เข้าใจว่าทำ Homerun คือตีลูกออกสนาม)

เท่าที่ดูและพอเข้าใจในช่วงหลัง และจาก Ref [2] เกมส์เบสบอลจะมีฝ่ายรุกกับฝ่ายรับ (อย่าได้คิดเป็นอื่น) เนื่องจากไม่รู้จะเขียนย่อความยังไงดี ขอก๊อปมาเลยก็ละกัน

ฝ่ายรับ เป็นฝ่ายทำคะแนน โดยจะต้องกำหนดลำดับคนตีไว้ล่วงหน้า โดยไม่สามารถเปลี่ยนลำดับคนตีได้ แต่สามารถเปลี่ยนผู้เล่นสำรองเข้ามาตีแทนได้ รวมทั้งผู้เล่นที่ถูกเปลี่ยนออกไปแล้ว ไม่สามารถกลับเข้ามาเล่นใหม่ได้อีก ขณะที่ทำการแข่งขันฝ่ายรุกจะเข้าไปเป็นผู้ตีในสนามครั้งละ 1 คน ฝ่ายรุกจะทำคะแนนได้ก็ต่อเมื่อสามารถตีลูกบอลที่ฝ่ายรับขว้างมาได้ และเมื่อตีลูกออกไปแล้วผู้ตีจะต้องวิ่งเข้าเบส 1, 2, 3 และสุดท้ายวิ่งเข้า Home Plate ตามลำดับ กรณีเช่นนี้จะทำให้ทีมฝ่ายรุกได้ 1 คะแนน หรือ 1 Run

Untitled

รูปจาก [2] 

1. Hit : การตีลูกได้เรียกว่า Hit หมายถึงลูกที่อยู่ในเขตพื้นที่เล่น ( Fair) และถ้าตีแล้วลูกลอยออก นอกสนามในแนวเขตพื้นที่เล่น (Fair) เรียกว่า Home Run

2. Out : ถ้าผู้ตีตีไม่โดนลูก ผู้ตัดสินขานว่า Stike 3 ครั้ง ผู้ตีจะต้องออกจากสนาม ซึ่งเรียกว่า Out ฝ่ายรุกจะต้องเปลี่ยนผู้ตี หรือ ถ้าฝ่ายรุกตีลูกไปแล้ว ฝ่ายรับสามารถรับลูกได้โดยที่ลูกบอลไม่ตกพื้นเรียกว่า Fly Ball ผู้ตีก็ต้องออกจากสนาม เรียกว่า Out เช่นกัน ซึ่งฝ่ายรุกก็ต้องเปลี่ยนผู้ตี และถ้าหากฝ่ายรุก ที่เป็นผู้ตี (Batter) ออกจากสนาม (out) ครบ 3 คน ถือว่าจบบทบาทของการเป็นฝ่ายรุก ต้องเปลี่ยนมาเล่นเป็นฝ่ายรับทันที

ในวันนี้ Waseda เป็นฝ่ายรุกก่อน จากนั้นหลังจาก Waseda พลาด ก็จะกลายเป็น Meiji ที่เป็นฝ่ายรุก ซึ่งก็จะแข่งกันไป 9 Turns

ในระหว่างการแข่งขัน ก็จะมีเด็กๆ ชมรมเชียร์มา Cheer up ให้กองเชียร์ช่วยกันเชียร์ ในช่วงที่วาเซดะเป็นฝ่ายบุก เราก็จะนั่งทำหน้าที่เป็นกองแช่งให้ทีมตรงข้าม Strike หรือเชียร์ให้ฝั่งเรารับลูกให้ได้ หรือแช่งให้เปลี่ยนไวๆ พอเปลี่ยนมาเป็นฝั่งเราที่เป็นฝั่งบุกบ้าง กองเชียร์ก็จะยืนขึ้นและร้องเพลงเชียร์ปลุกใจนักกีฬา

IMG_3617 IMG_3619 IMG_3623

(ซ้าย) กองเชียร์วาเซดะ คนน้อยกว่าเมจิอยู่เหมือนกัน (กลาง) สกอร์ตอนเข้าสนามมา เงิบเลย (ขวา) กองเชียร์ขณะเป็นฝ่ายรุก

ที่นี่เค้าเชียร์กันแบบคึกครื้นมาก เนื่องจากเราฟังภาษาญี่ปุ่นก็ไม่ค่อยชัด ร้องเพลงก็ไม่ค่อยได้ ก็เลยถั่วงาๆ ปรบมือแปะๆ ชูไม้ชูมือ ไปตามน้ำ จะว่าไปก็สนุกดีเหมือนกัน ให้เห็นภาพเลยเอาวีดีโอจาก Youtube แมทช์คราวก่อนๆมาให้ดูกัน ซึ่งกองเชียร์ที่นี่บอกเลยว่าจัดเต็มมาก หอบวงดุริยางค์กันมาเลย (โดยส่วนตัวชอบเพลงตอนต้นๆ ของวีดีโอนี้ ประมาณนาทีที่ 0:30 มันส์ดี อารมณ์ประมาณว่า เชียร์ให้คนตีโฮมรัน ละก็เป็นกองแช่งฝั่งตรงข้าม) ระหว่างร้องเพลงก็มีการชูเนื้อร้องไป ปกติเราก็จะเชียร์เป็นชื่อนักกีฬา สตาฟเชียร์ก็จะมีชื่อนักกีฬาปรินท์มาแบบใหญ่ๆ ให้เราเห็นและพูดชื่อเชียร์เป็นจังหวะทำนองเลย

ในคลิปช่วงประมาณนาทีที่สอง คือช่วงที่ทำแต้มได้ เราก็จะกระโดดโลดเต้นกอดคอไปพร้อมๆกัน

คลิปอันนี้ (ปี 2014) ลักษณะผู้นำเชียร์ของที่นี่

ช่วงสี่ห้าเกมแรกๆ เราก็ดูไม่ค่อยรู้เรื่อง ตอนแรกก็งงว่าทำไมให้เชียร์ว่า Strike แล้วมันคืออะไร แช่งให้ change พอดูเรื่อยๆ ก็เริ่มเข้าใจล่ะว่าทำไมต้องแช่งแบบนั้น ทำไมต้องเชียร์ จนพอเกมไปประมาณเกมที่หก ก็เหมือนเป็นประเพณีที่ทั้งวาเซดะและเมจิร้องเพลงมหาวิทยาลัย ในช่วงที่วาเซดะร้องเพลงมหาวิทยาลัย เราก็จะเงียบ และให้เค้าร้องเพลงมหาวิทยาลัย หลังจากที่เค้าร้องเสร็จเราก็จะร้องบ้าง การร้องเพลง-การให้เกียรติเพลงก็เป็นแนวๆ จุฬาร้องเพลงมหาจุฬาลงกรณ์ ธรรมศาสตร์ก็จะเงียบ อะไรทำนองนั้น

ในระหว่างการเชียร์ ก็มีเทคนิคเชียร์แบบพื้นๆ ฐาน เช่น ถือผ้าเช็ดหน้าเมจิส่ายไปส่ายมา (ซึ่งเราไม่มี เลยเอาผ้าเช็ดหน้าเรามาใช้แทนกัน)  เล่นเวฟบ้าง ที่เห็นแล้วรู้สึกชอบใจมากคือ ในเล่มสูจิบัตรจะมีหน้าที่พิมพ์เนื้อเพลงเป็นสีม่วงล้วน ถึงเวลาเชียร์แบบเล่นอุปกรณ์ ก็จะให้เราชูสูจิบัตรหน้านั้นขึ้นมาเหมือนๆ กับถือเพลท ซึ่งดูแล้วก็สร้างสรรค์มากๆ ไม่ต้องเตรียมอุปกรณ์เชียร์มากมายเลย

เชียร์ไปเชียร์มาจนท้ายเกมส์ วาเซดะก็ทำแต้มรัวๆ ส่วนเมจิก็แป้ดๆ ตลอด แต่ก็เชียร์มันส์ๆ อยู่ดี

IMG_3628 IMG_3631

แข่งมาจนใกล้ๆ จะจบ

จนกระทั่งเกมส์สุดท้ายก็แพ้ไปอย่างสมศักดิ์ศรี หลังจากเสร็จเกมส์แล้ว เร่ิมต้นวาเซดะก็ร้องเพลงมหาวิทยาลัย และเชียร์ให้เมจิ พร้อมคำนับธงให้กันและกัน จากนั้นก็ผลัดกันบ้าง เป็นอันจบเกมส์อันแสนสนุก ภายใต้แสงแดดแผดเผา TT ที่แน่ๆ คือจบเกมส์ก็คือจบ (แต่ไม่แน่ใจว่าหลังจากเกมส์นี้นี่เค้าไปไฝว้กันต่อนอกรอบเหมือนที่บ้านเราไหมนะ แต่น่าจะไม่มี)

IMG_3634

สกอร์ตอนจบ ตรูเป็นตัวซวยสินะ TT

หลังจากดูจบแล้ว เราก็แยกย้ายกับโลเรนโซซังและวองซัง กลับมาสลบที่บ้าน (ร้อนฝุดๆ) ซึ่งจากการมาดูและเชียร์เบสบอล ก็รู็สึกว่ามันสนุกมากกกกก ถ้ามีโอกาสก็จะมาดูอีก คิดว่าฤดูกาลหน้าคงไม่พลาดแน่นอน!

จบเกมส์นอกจากได้ความสนุกสนานที่น่าจะมาสัมผัสในภายหลังแล้ว ก็ยังเห็นรูปแบบวัฒนธรรมการเชียร์กีฬาของคนญี่ปุ่นด้วย ถ้าดูธรรมเนียมก็มีความคล้ายๆ กับที่ไทยอยู่บ้าง (เป็นต้นว่า ฟุตบอลจุฬาธรรมศาสตร์นี่ล่ะ) คนที่นี่เค้าให้เกียรติผู้อื่น ถึงแม้จะเป็นคู่แข่งขันก็ตาม แต่ท้ายที่สุดก็เป็นเพื่อนกันอยู่ดี 🙂

KM (Knowledge Management) ประจำตอน  : เชียร์กีฬาเฮฮาสนุกสนาน

เรื่องนี้อยากสะท้อนคิดถึงวัตถุประสงค์ของการเชียร์กีฬากับเล่าความหลังเมื่อครั้งเป็นน้องกับเป็นพี่

เท่าที่จำความได้สมัยเราเป็นน้องปี 1 ตอนขึ้นแสตนด์เชียร์คณะ เวลาเราขึ้นแสตนด์นั้น เราต้องนั่งระเบียบเชียร์ ร้องเพลงให้หลีดเต้นแบบเนิบๆ ยานๆ จริงๆ มันก็ดูดีมีระเบียบ สวยงาม แต่มันก็ไม่สนุก ซึ่งสิ่งที่นักกีฬาสงสัยกันคือ Sports day จริงๆ แล้วมันคือ Cheer day ดีๆ นี่เอง -.-” (แถมยังไม่ได้เชียร์นักกีฬาอีกต่างหาก) บางทีเราอยากเชียร์ฟุตบอล หรือเชียร์การวิ่ง แต่สุดท้ายก็ต้องนั่งระเบียบเชียร์ร้องเพลงตบแปะๆ แบบง่วงๆ งงๆ จึงสะท้อนคิดว่า เราควรเชียร์กีฬาให้สนุกหรือให้สวยงามกันแน่ (ซึ่งจริงๆ มันทำไปพร้อมๆ กันได้)

เมื่อสมัยเราทำงานสโมตอนปี 3 เราเห็นว่าห้องเชียร์ของคณะเราสอนเพลงหลายๆ เพลงซึ่งทุกคนร้องได้อย่างพร้อมเพรียง พร้อมท่าทาง แต่มันขาดความสนุก ร้องกันเฉยๆ ยานๆ เราก็เลยให้ความเห็นกับน้องๆ ชมรมเชียร์ไปว่า  ถ้าเราเอาเพลงพวกนั้นมาใส่ทำนองกลองมันส์ ๆ แล้วทำท่าไป มันจะสนุกมาก ปีนั้นน้องชมรมเชียร์ก็เห็นพ้องต้องกัน และปรับช่วงเชียร์กีฬาให้มีความสนุกสนาน (พี่ชมรมรักบี้ก็ถึงกับงงและถามด้วยความแปลกใจ เพราะปีก่อนๆ เวลาแข่งรักบี้ คณะเราเปิดเพลท แต่ปีนั้นแสตนด์คณะเชียร์อย่างเมามันมากตอนแข่งรักบี้) ปีนั้นผลงานการเชียร์กีฬาก็เกินความคาดหมายมากๆ เลยทีเดียว แสดงให้เห็นว่า การเชียร์กีฬาก็ควรเชียร์ให้สนุก เดี๋ยวความพร้อมเพรียงก็จะมาเอง

สำหรับประเด็นห้องเชียร์ เกรงจะดราม่ากันยาวมาก สมัยก่อนตอนเราเป็นเด็กก็ไม่ได้คิดอะไรมาก มีก็มีไป พอเริ่มโตขึ้นก็เริ่มเห็นว่า เอ๊ะ เราน่าจะปรับรูปแบบอะไรกันบ้างแล้วไหม (แต่เนื่องจากโตเกินไปแล้ว การให้ความเห็นแก่น้องๆ มากๆ ก็เป็นเรื่องที่ไม่ค่อยดีนัก) มาถึง ณ ตอนนี้ จุดที่เห็นโลกกว้างขึ้น ก็เห็นว่า มีอะไรที่สำคัญกว่าการเปิดห้องเชียร์เยอะ เป็นต้นว่า เปิดอาเซียนเข้าไปนี่ “มึง ตาย แน่” (ขออภัยหากไม่สุภาพ) ถ้าไม่พัฒนาตัวเองในด้านวิชาการ และพัฒนาตนเองด้วยกิจกรรมเสริมหลักสูตรที่มีประโยชน์แก่ตนเอง…ซึ่งเคยสะท้อนคิดไปเมื่อตอนไป Meidai sai เมื่อปีก่อน (ในอัลบั้ม Facebook ที่นี่)

หลายอย่างเราก็ควรจะเริ่มปรับๆ กันไปให้ทันโลกได้แล้วล่ะนะ หวังว่าการมาเห็นโลกกว้าง จะช่วยให้เราสามารถไปช่วยปรับประเทศให้ทันโลกได้บ้างไม่มากก็น้อย

ท้ายที่สุด ขอบคุณที่ทนอ่านจนจบครับ 😀

Reference

[1] Big6 Homepage : http://www.big6.gr.jp/

[2] กติกาเบสบอล : http://www.baseball.or.th/7aboutbaseball.htm

1 คิดบน “เรื่อยไปในโตเกียว 12 : เบสบอลครั้งแรก

  1. […] ไปดูเบสบอล ซึ่งจะว่าไปก็เป็นกีฬายอดนิยมของที่นี่เลย (ฮิตกว่าฟุตบอลอีกมั้ง) ซึ่งก่อนหน้านี้เราก็คิดในใจว่าอยากไปดูเหมือนกัน และในที่สุดก็ได้ไปดู โดยที่เราก็ได้ไปดูสองรอบเลยทีเดียว ติดตามได้ที่ เรื่อยไปในโตเกียว 12 : เบสบอลครั้งแรก […]

ส่งความเห็นที่ สรุปชีวิตปี 2015 และเป้าหมายชีวิตปี 2016 | SnC Space ยกเลิกการตอบ